สถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร
หอพระพนัสบดี


พระพนัสบดี เป็นพระพุทธรูปศิลาเก่าแก่สมัยทวาราวดี มีอายุประมาณ 1,200 – 1,300 ปี แกะสลักจากศิลาเนื้อละเอียดสีดำ เป็นพระพุทธรูปในท่าประทับยืนบนดอกบัวที่วางอยู่บนหลังสัตว์ประหลาดที่สร้างขึ้นจากจินตนาการ เรียกว่า “พนัสบดี” (ผู้เป็นใหญ่ในป่า) แก้มเป็นกระพุ้ง จงอยปากใหญ่งุ้มแข็งแรง คล้ายปากหงส์ ปลายจงอยปากจากบนลงล่าง มีรูทะลุคล้ายกับจะแขวนกระดิ่งได้ มีเขาทั้งคู่บิดเป็นเกลียวงอเข้าหากันคล้ายเขาโคตั้งอยู่เหนือตา โคนเขามีหูสองหูอย่างหูโค มีปีกสองข้างใหญ่สั้นที่กำลังกางออก ขาทั้งสองข้างพับแพนบทรวงอกยกเชิดขึ้นอย่างขาของครุฑที่กำลังเหินลม ด้านหลังองค์พระมีประภามณฑล (ลายเปลวเพลิง) เป็นรูปกลมรีอย่างรูปไข่ รอบๆ ประภามณฑลมีลวดลายงดงามมาก จากพื้นล่างสุดถึงยอดประภามณฑลมีลวดลายงดงามมาก จากพื้นล่างสุดถึงยอด ประภามณฑลสูง 45 เซนติเมตร จากฐานล่างถึงพระบาทสูง 15 เซนติเมตร ส่วนกว้างที่สุดของประภามณฑล 20 เซนติเมตร ส่วนกว้างจากปลายปีกทั้งสองข้าง 24 เซนติเมตร


พระพนัสบดีได้มีการค้นพบเมื่อประมาณปี พ.ศ.2440 โดยผู้พบได้พบขณะพายเรือไปขายของ และปักไม้พายไปถูกองค์พระใต้ผิวน้ำที่ชายฝั่งคลองแบ่ง ตำบลไร่หลักทอง อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี และได้เก็บรักษาบูชาไว้ที่บ้านซึ่งอยู่ตรงข้างสถานีตำรวจพนัสนิคมมาจนถึงปัจจุบัน พระพนัสบดีองค์จำลอง ได้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2517 จำลองให้ขนาดใหญ่กว่าเดิม 3 เท่า ประดิษฐาน ณ หอพระพนัสบดี ถนนเมืองเก่า ด้านทิศตะวันตกที่ว่าการอำเภอพนัสนิคมตรงข้ามสำนักงานเทศบาลเมือง พนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
** กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นเป็นโบราณวัตถุ ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 3684 เมื่อวันที่ 8 เดือนมีนาคม พ.ศ.2478 **
พระวิหารพระพุทธมิ่งเมือง
พระพุทธมิ่งเมือง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐาน ณ พระวิหาร พระพุทธมิ่งเมือง ถนนศรีวิชัย ในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม
ใกล้กับตลาดสด เทศบาล 1 อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี



พระพุทธมิ่งเมือง แกะสลักจากไม้ประดู่ ลักษณะเป็นศิลปะชาวลาว สร้างใน ราวปี พ.ศ.2371 เป็นการสร้างขึ้นของชาวลาวอพยพที่เข้ามาอาศัยอยู่ในแถบนี้ เดิมประดิษฐานอยู่ในวัดร้างชื่อว่า “วัดผ้าขาวใหญ่” ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นเป็นวัดแรกในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคม ต่อมาเทศบาลเมืองพนัสนิคมได้ปรับปรุงสถานที่ และบริเวณวัดร้างนั้น พร้อมทั้งดำเนินการก่อสร้างหอพระเป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธาน ณ ที่ตั้งพระอุโบสถเดิม และทำพิธีเปิดวิหารเมื่อวันที่ 1 เดือนธันวาคม พ.ศ.2530
** กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุ เมื่อวันที่ 30 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2537 **

ศูนย์จักสานใหญ่ที่สุดในโลก
ในสมัยก่อน ชาวอำเภอพนัสนิคมส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพ ทำไร่ ทำนา หาปู หาปลา เอามาเป็นอาหารในแต่ละวัน จนกระทั่งได้มีการนำไม้ไผ่ที่หามาในละแวกที่อยู่อาศัย นำมาตัดสานทำเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ในการจับสัตว์น้ำ เช่น ไซ ตุ้ม ลอบ รวมถึงตะแกรงเอาไว้ใช้ช้อน กุ้ง หอย ปู ปลา ตามหนองน้ำ ต่อมาได้พัฒนามาเป็นฝาชีครอบกับข้าว เพื่อป้องกันแมลงต่างๆ เข้ามาตอมอาหารจนถึงปัจจุบันนี้

ต่อมาได้มีการสานฝาชีให้มีลวดลายสีสันสวยงามมากขึ้น เป็นที่นิยมของคนทั่วไปและมีจำหน่ายกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น จึงมีการรวมตัวของชาวบ้านเพื่อจัดตั้ง “กลุ่มจักสาน ชุมชนย่อยที่ 1” อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ในปี พ.ศ.2544 มีสมาชิกจำนวน 45 คน ทำการผลิตผลงานและพัฒนาสินค้าเกี่ยวกับการจักสานไม้ไผ่ต่างๆ เอาไว้จำหน่ายเป็นรายได้ให้แก่สมาชิก และได้รับการคัดสรรสินค้าสุดยอดหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ปี 2549 ประเภทผลิตภัณฑ์ ของใช้ของประดับตกแต่ง ของที่ระลึก ระดับ 4 ดาว และได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนได้รับการคัดสรร ระดับ 5 ดาว

แหล่งซื้อเครื่องจักสานพนัสนิคม
- ศูนย์เครื่องจักสานใหญ่ที่สุดในโลก นางปราณี มูลผลา ประธานกลุ่มจักสาน ชุมชนย่อยที่ 1 เลขที่ 60 ถนนจันทร์อำนวย ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โทร. 0–3846–1180
- ศูนย์ส่งเสริมฝีมือจักสานด้วยไม้ไผ่บ้านคุณปรานี บริบูรณ์ เลขที่ 36 ถนนอินทอาษา ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โทร. 0–3846–1313
- บ้านเลขที่ 8 ถนนอินทอาษา ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี โทร. 0–3846–1313
- ตลาดเครื่องจักสาน (บริเวณตลาดเก่า) ถนนสระตราง ตำบลพนัสนิคม อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี
พนัสนิคม เป็นเมืองเก่าที่เคยรุ่งเรืองเมื่อสมัยกว่า 1,000 ปีมาแล้ว ตั้งขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โดยมีพระบรมราชโองการสถาปนาเมืองพนัสนิคมขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2371 เป็นเมืองชั้นจัตวา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2440 สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค จัดระเบียบการปกครองขึ้นใหม่เป็นมณฑลจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน จึงโปรดเกล้าให้เมืองพนัสนิคมเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดชลบุรี เมื่อปี พ.ศ.2441
อย่างไรก็ดี พนัสนิคม ก็ยังเป็นที่สนใจของประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศอยู่พอสมควร จะเห็นได้จากการเข้ามาเยี่ยมเยือนเมืองพนัสนิคมของประชาชนจากหลายๆ จังหวัดของประเทศไทย หลายๆ หน่วยงาน ที่ขอเข้ามาในรูปแบบของการศึกษาดูงาน การท่องเที่ยว การติดต่อซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าพื้นเมือง สินค้าด้านการเกษตร และผลิตภัณฑ์หัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ เป็นต้น


